ประวัติ
หากย้อนมองกลับไปถึงความเป็นมาของความเป็นเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนที่มีชื่อเสียงอันโด่งดังไปไกลทั่วทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศแล้วนั้น ต้องบอกว่าเมื่ออดีตนั้น หมู่บ้านด่านเกวียนเป็นชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งของที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล และเคยเป็นที่พักกองคาราวานเกวียนสินค้าที่ขึ้นล่องระหว่างโคราช-เขมร จึงทำให้หมู่บ้านนี้ได้มีชื่อเรียกขานกันมาว่า "ด่านเกวียน"และเมื่อก่อนชาวบ้านด่านเกวียนมีอาชีพทำการเกษตรเป็นหลัก
จนกระทั่งเมื่อมีชาวข่า (ชนเผ่าตระกูลมอญ-เขมร) เข้ามาทำงานก่อสร้างโบสถ์ และได้นำดินมาปั้นเป็นภาชนะ และเผาเก็บไว้ใช้สอยในครัวเรือน เมื่อชาวบ้านมาเห็นก็เกิดความสนใจ และฝึกฝนฝีมือการทำเครื่องปั้นดินเผาจนเกิดความชำนาญ และยึดเป็นอาชีพในเวลาต่อมา โดยเมื่อถึงหน้านาก็ทำนาหาอยู่หากินกับผืนป่าและแหล่งน้ำอันอุดมสมบูรณ์อย่างเรียบง่าย พอถึงหน้าแล้งก็ทำเครื่องปั้นดินเผาไว้ใช้สอยในครัวเรือน ส่วนที่เหลือก็เอาไว้ไปขายหรือแลกเปลี่ยนสิ่งของที่ขาดแคลนเท่านั้น
เมื่อในแต่ละปีจะมีกองคาราวานมาซื้อเครื่องปั้นดินเผาจากชาวบ้าน นำเอาไปขายเป็นจำนวนมาก จึงทำให้วิถีชีวิตชาวด่านเกวียนเริ่มเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ผลิตเครื่องปั้นดินเผาไว้ใช้สอยเอง ก็ปรับเปลี่ยนเมื่อเห็นว่าเครื่องปั้นดินเผาสามารถผลิตขายเป็นสินค้าสร้างรายได้ได้ ก็ทำให้มีผู้สนใจเรียนรู้และพัฒนาการทำเครื่องปั้นดินเผาเพื่อการจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น และก็มีการเปลี่ยนแปลงการผลิตงานปั้นรูปแบบใหม่ๆ เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของตลาดตามสมัยนิยมมากยิ่งขึ้น ทำให้งานเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนมีความหลากหลายทั้งรูปแบบ ลวดลายสีสันและกรรมวิธีการผลิต แต่ว่าก็ยังคงไว้ด้วยเอกลักษณ์และความสวยงามในแบบของเครื่องปั้นด่านเกวียน
ดินด่านเกวียนเป็นดินเหนียวเนื้อละเอียดที่ขุดขึ้นมาจากริมฝั่งแม่น้ำมูล ซึ่งห่างออกไปจากทางหลวง 224 ทางทิศตะวันออกประมาณ 2 - 3 กิโลเมตร ในพื้นที่ที่ชาวบ้านเรียกว่า กุด หรือแม่น้ำด้วน ลักษณะลำน้ำที่คดเคี้ยว กัดเซาะตะลิ่งจนขาดและเกิดลำน้ำด้วนขึ้น ส่วนที่เป็นแนวกัดเซาะจะกลายเป็นแหล่งทับทมดิน ดินดังกล่าวนี้เป็นดินซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษ ง่ายต่อการขึ้นรูปทนทานต่อการเผา ไม่บิดเบี้ยวหรือแตกหักง่าย และที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือดินนี้เมื่อถูกเผาจะให้สีโดยธรรมชาติเป็นสีแดงซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากธาตุเหล็ก (Iron Oxide) หรือสนิมเหล็กที่มีอยู่จำนวนมากในเนื้อดิน
ที่ตั้ง
ด่านเกวียน เป็นหมู่บ้านหนึ่งของ ตำบลด่านเกวียน
อำเภอโชคชัย ห่างจากตัวเมืองนครราชสีมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 15 กิโลเมตร โดยมีทางหลวงหมายเลข
224 สายนครราชสีมาโชคชัยผ่านกลางหมู่บ้านซึ่งมีร้านค้าเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน
เรียงรายอยู่สองฟากฝั่งและมีลำน้ำมูลทอดขนานอยู่ทางฝั่งทิศตะวันออกหมู่บ้าน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สนง. ททท. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขต 1 โทร. 0-4421-3666, 0-4421-3030
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น